Now Reading:
ตามมาดูงานศิลปะบนกำแพงเก๋ๆ เที่ยวสิงคโปร์ ยังไงให้ไม่พลาด!

ตามมาดูงานศิลปะบนกำแพงเก๋ๆ เที่ยวสิงคโปร์ ยังไงให้ไม่พลาด!

ใครที่เคยไปเที่ยวสิงคโปร์ จะเห็นว่านี่คือเมืองที่เต็มไปด้วยงานศิลปะหลากแขนง ตั้งแต่ผลงานภาพวาด ประติมากรรม ไปจนถึงสถาปัตยกรรมของตัวอาคาร ตึกรามบ้านช่องต่าง ๆ ที่ผสมผสานวัฒนธรรมดั้งเดิมเข้ากับศิลปะสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว แต่ยังมีงานศิลปะอีกแขนงหนึ่งที่น่าสนใจและสร้างสีสันให้กับบรรดานักท่องเที่ยวได้อยู่เสมอ

นั่นคือ “ศิลปะบนกำแพง” (Mural Art) ในย่านต่าง ๆ โดยมีจำนวนผลงานมากกว่าร้อยชิ้นที่กระจายตัวอยู่เต็มทั่วเกาะสิงคโปร์ ผลงานศิลปะเหล่านี้ล้วนสะท้อนถึงเอกลักษณ์และการดำเนินชีวิตของชาวสิงคโปร์และการท่อง เที่ยวสิงคโปร์ ได้เป็นอย่างดี วันนี้เราขอพาคุณไปชมศิลปะบนกำแพงสวย ๆ ซึ่งถือเป็นสตรีทอาร์ตประเภทหนึ่ง ในย่านต่าง ๆ ของสิงคโปร์ พร้อมให้คุณปักหมุดและตะลุยถ่ายรูปกัน เราขอเปิดตัวด้วยย่านดังที่มีผลงานภาพศิลปะอันโดดเด่นมากมาย

Everton Road

ย่านที่พักอาศัยอันเงียบสงบของสิงคโปร์ ได้ถูกปลุกให้มีชีวิตชีวาขึ้นด้วยผลงานศิลปะบนกำแพง โดยฝีมือของ Yip Yew Chong หนุ่มนักบัญชีผู้รักการวาดรูปเป็นชีวิตจิตใจ เขาได้สร้างสรรค์ผลงานภาพวาดซึ่งสะท้อนถึงการใช้ชีวิตของผู้คนในสมัยก่อนจากความทรงจำในวัยเด็ก  ภาพวาดที่น่าสนใจ ได้แก่ Amah (อาม่า), The Barber (ช่างตัดผม) และ Provision Shop (ร้านขายของชำ) ล้วนแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนสิงคโปร์ในอดีตทั้งในบ้านและนอกบ้านได้เป็นอย่างดี

การเดินทาง: MRT สถานี Tanjong Pagar

Amah, The Barber, Provision Shop (ที่มา: http://yipyc.com)

Amah, The Barber, Provision Shop (ที่มา: http://yipyc.com)

Amah, The Barber, Provision Shop (ที่มา: http://yipyc.com)

Tiong Bahru

ไม่ใช่เพียงแค่ย่าน Everton Road เท่านั้น แต่ผลงานศิลปะบนกำแพงของ Yip Yew Chong ยังไปปรากฏอยู่ที่ย่านอื่น ๆ ในสิงคโปร์ด้วยเช่นกัน ซึ่ง Tiong Bahru ก็เป็นหนึ่งในนั้น ที่นี่ถือเป็นอีกย่านสโลว์ไลฟ์ของคนสิงคโปร์ที่เต็มไปด้วยคาเฟ่ ร้านอาหาร ร้านหนังสือเก๋ ๆ มากมาย ภาพวาดที่น่าสนใจ เช่น Bird Singing Corner ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอดีตจุดนัดพบของคนรักนก ทั้งจากสิงคโปร์ และจากประเทศใกล้เคียงในสมัยก่อน ที่มักรวมตัวกันที่ย่าน Tiong Bahru โดยนำนกของตนเองใส่กรงและมาแขวนไว้ให้คนทั่วไปได้ชม อีกหนึ่งภาพวาดที่ไม่ควรพลาดคือ Home ที่แสดงให้เห็นถึงบ้าน และการใช้ชีวิตในบ้านของชาวสิงคโปร์ในย่าน Tiong Bahru สมัยก่อนได้เป็นอย่างดี

การเดินทาง: MRT สถานี Tiong Bahru

Bird Singing Corner, Home (ที่มา: http://yipyc.com)

Bird Singing Corner, Home (ที่มา: http://yipyc.com)

Haji lane

ตรอกฮิปสเตอร์ในย่าน Kampong Glam แหล่งแฮงก์เอาท์ของวัยรุ่นสิงคโปร์ที่เต็มไปด้วยคาเฟ่ ร้านอาหาร และผลงานกราฟฟิตี้บนผนังให้ได้หยุดแวะถ่ายรูปตลอดทาง ผลงานไฮไลท์ที่เราอยากแนะนำคือ ผลงานศิลปะกราฟฟิตี้จากศิลปินกราฟฟิตี้ชื่อดัง Ceno2 บนผนังด้านนอกของร้านอาหาร The Singapura Club โดยเป็นภาพของกรรมกรใส่ผ้าโพกศีรษะ หญิงอพยพชาวจีน (Samsui) และชายชาวมาเลย์ ซึ่งสื่อถึงประวัติความเป็นมาของถนน Arab Street รวมถึงอาหารที่หลากหลายของทางร้าน ที่เสิร์ฟทั้งอาหารเอเชียและอาหารอินเดียเหนือ ส่วนอีกหนึ่งผลงานที่โดดเด่นมากที่สุดในย่านนี้ คือผนังด้านนอกของร้านอาหารเม็กซิกัน Piedra Negra ที่เต็มไปด้วยผลงานภาพวาดสีสันสดใสสไตล์ฮิปปี้และชนเผ่า ฝีมือศิลปินชาวโคลอมเบีย Jaba

การเดินทาง: MRT สถานี Bugis

Singapura Club, ผลงานโดย Ceno2 (ที่มา: http://www.homeanddecor.com.sg)

Piedra Negra, ผลงานโดย Jaba (ทีมา: https://colombianosensingapur.wordpress.com)

นอกเหนือจากย่านสุดฮิตที่เราได้แนะนำกันไปเบื้องต้นแล้ว ยังมีอีกหลาย ๆ ย่านซึ่งเต็มไปด้วยผลงานศิลปะบนกำแพงที่คุณอาจจะยังไม่เคยมีโอกาสไปเยี่ยมชมมาให้ได้รู้จัก และอีกหนึ่งเป็นทางเลือกเวลามาเที่ยวสิงคโปร์ครั้งหน้า มาดูกัน!

Chinatown

รู้หรือไม่ รอบ ๆ บริเวณย่าน Chinatown นั้นเต็มไปด้วยผลงานศิลปะมากมาย ที่สร้างสีสันและความสดใสให้กับย่านนี้ได้เป็นอย่างดี

Welcome to Our World, The Cool Dude (ที่มา: www.ipacktravel.com)

เริ่มต้นกันที่ Banda Street ถนนสายเล็ก ๆ ในย่าน Chinatown ที่เต็มไปด้วยผลงานสตรีทอาร์ตภายใต้โปรเจ็ค Colouring Banda Street 2015ด้วยฝีมือของอาสาสมัครและคนท้องถิ่นกว่า 600 คน ที่ได้ร่วมกันเนรมิตถนนทั้งสายให้เต็มไปด้วยผลงานภาพวาดบนผนัง โดยใช้เวลาทั้งหมดร่วม 6 เดือนในการสร้างสรรค์ ภายใต้ธีมที่เกี่ยวข้องกับอดีตและปัจจุบันของชาวสิงคโปร์ในย่าน Chinatown เช่น Welcome to Our World ซึ่งเป็นภาพของหญิงอพยพชาวจีนในผ้าโพกศีรษะสีแดง เป็นตัวแทนของชาวจีนอพยพที่มีส่วนสำคัญในการสร้างสิงคโปร์ในช่วงกลางยุค 90’s และ The Cool Dude ซึ่งแสดงให้เห็นถึงชายอพยพชาวจีน ที่ทำงานหาเลี้ยงชีพในยุคนั้นด้วยการประกอบอาชีพชาวประมงและกรรมกรผู้ใช้แรงงาน ทั้งนี้ ยังมีภาพผลงานศิลปะบนผนังอีกมากมายให้ได้ชมกันบนถนน Banda Street ตลอดทั้งสาย

Welcome to Our World, The Cool Dude (ที่มา: www.ipacktravel.com)

เดินชมงานศิลปะกันอย่างต่อเนื่องบนกำแพงความยาว 44 เมตร หลังวัดเทียนฮกเก๋ง บนถนน Amoy Street ผลงานจากความสร้างสรรค์อีกชิ้นของ Yip Yew Chong ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของชาวจีนฮกเกี้ยนอพยพ ตั้งแต่การเดินทางออกจากประเทศจีนถึงสิงคโปร์ รวมถึงประสบการณ์ความยากลำบากและความสุขระหว่างการเดินทาง

งานศิลปะบนผนังหลังวัดเทียนฮกเก๋ง (ที่มา: http://yipyc.com)

ปิดท้ายย่าน Chinatown ที่ศูนย์อาหาร Amoy Street Food Centre กับอีกผลงานศิลปะบนกำแพงจากศิลปินกราฟฟิตี้ชื่อดัง Ceno2 ซึ่งเป็นภาพของหญิงชาวอพยพชาวจีน ผู้มาตั้งรกราก และประกอบอาชีพเป็นกรรมกรก่อสร้าง ซึ่งมีส่วนสำคัญในการก่อร่างสร้างประเทศสิงคโปร์ ในช่วงกลางยุค 1930

การเดินทาง: MRT สถานี Chinatown

งานศิลปะบนผนังหลังวัดเทียนฮกเก๋ง (ที่มา: http://yipyc.com)

Little India

ย่านที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมและประเพณีอันมีสีสันของชุมชนชาวอินเดีย ลองมาเดินเล่นในตรอกซอกซอยของ Little India และตื่นตาไปกับศิลปะบนฝาผนังที่แสดงให้เห็นถึงสิงคโปร์ในอดีตอันเต็มไปด้วยสีสันและความหลากหลาย ผลงานไฮไลท์ที่เราอยากแนะนำคือ Traditional Trades of Little India ที่ Belilios Lane ซึ่งเป็นภาพที่แสดงให้เห็นการซื้อขายในย่าน Little India ของเหล่าบรรดาพ่อค้าที่เข้ามาประกอบธุรกิจในย่านนี้เมื่อหลายปีก่อน ซึ่งปัจจุบันไม่มีภาพเหล่านี้ให้เห็นอีกแล้ว เนื่องจากการทำธุรกิจที่ทันสมัยมากขึ้นในปัจจุบันได้เข้ามาแทนที่

Traditional Trades of Little India (ที่มา: https://thehedgehogknows.blogspot.sg)

อีกภาพหนึ่งคือ I am Still Here ที่ Clive Street แสดงให้เห็นใบหน้าของผู้หญิงอินเดีย เปรียบเหมือนตัวแทนของย่าน Little India ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประเพณีและประวัติศาสตร์ และยังคงยืนหยัดอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

I am Still Here (ที่มา: http://sg.asia-city.com)

ปิดท้ายด้วย Working Class Hero โดยฝีมือของ Mohd Zulkarnaen Bin Othman (Zero) ที่ถนน Hindoo Road ซึ่งเป็นภาพของซูเปอร์สตาร์ชาวอินเดีย Rajinikanth และภาพวาดชิ้นนี้ยังเป็นผลงานชิ้นที่ใหญ่ที่สุดของ Zero และใช้เวลาเพียง 24 ชั่วโมงในการสร้างสรรค์

การเดินทาง: MRT สถานี Little India

Working Class Hero (ที่มา: http://sg.asia-city.com)

Bras Basah.Bugis

222 Queen Street และ 51 Waterloo Street คือถนนสองสายที่เปรียบเสมือนหัวใจของชุมชนย่าน Bras Basah ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของโรงเรียนคาทอลิก และโรงเรียนชายล้วนมาก่อน แต่ได้ถูกทิ้งเป็นตึกร้างในช่วงยุค 1990 จนกระทั่งปี 2009 อาคารร้างดังกล่าวได้ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นสถานที่แสดงงานศิลปะ ซึ่งประกอบไปด้วยสถาบันสอนศิลปะ ศูนย์ศิลปะการแสดง สตูดิโอฟิตเนส บริการจัดงานเลี้ยงนอกสถานที่ และพิพิธภัณฑ์แสดงอัญมณี โดยตัวอาคารมีชื่อว่า 222+51 ในปี 2016 ซึ่งเป็นโอกาสครบรอบ 80 ปีของตัวอาคาร 222+51 ได้เชิญศิลปินท้องถิ่นอย่าง Yip Yew Chong และ Yuen Kum Cheong มาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะบนฝาผนังตัวอาคาร ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากประวัติความเป็นมาที่เต็มไปด้วยสีสันของย่าน Bras Basah โดยผลงานที่เราอยากแนะนำ ได้แก่ Mama Shop โดย Yuen Kum Cheong, Odeon Cinema and National Theatre โดย Yip Yew Chong, Two Rails โดย Yuen Kum Cheong และ National Library and MPH โดย Yip Yew Chong

Mama Shop, Odeon Cinema and National Theatre, Two Rails, National Library and MPH (ที่มา: https://weekender.com.sg)

Mama Shop, Odeon Cinema and National Theatre, Two Rails, National Library and MPH (ที่มา: https://weekender.com.sg)

Mama Shop, Odeon Cinema and National Theatre, Two Rails, National Library and MPH (ที่มา: https://weekender.com.sg)

Mama Shop, Odeon Cinema and National Theatre, Two Rails, National Library and MPH (ที่มา: https://weekender.com.sg)

การเดินทาง: MRT สถานี Bras Basah

และหากใครมีโอกาสไปเดินเล่นแถวถนน Queen Street นอกจากจะได้เห็นผลงานนศิลปะบนฝาผนังโดยศิลปินท้องถิ่นชาวสิงคโปร์แล้ว คุณยังจะได้เห็นผลงานศิลปะฝีมือคนไทยบนกำแพงฝั่งตรงข้ามโรงแรม Oxford Hotel อีกด้วย

(ที่มา: https://nowjakarta.co.id)

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลงานสตรีทอาร์ตที่กระจายตัวอยู่ทั่วเกาะสิงคโปร์ ยังมีผลงานศิลปะบนฝาผนังในอีกมากมายในหลาย ๆ ย่าน ที่น่าสนใจให้คุณได้ไปลองสัมผัสด้วยตัวเอง สำหรับใครที่เป็น explorer และมี passion ในการสำรวจค้นหาสถานที่แปลกใหม่ ต้องลองไปสัมผัสงานศิลปะในพื้นที่ใหม่ ๆ ที่คุณอาจยังไม่เคยเห็นมาก่อน พร้อมพกกล้องไปเก็บภาพคราวหน้าที่ไปเที่ยวสิงคโปร์!


อยากให้เพื่อนได้อ่าน แชร์เลย


Comments

Share This Articles
ใส่คีย์เวิร์ดแล้วกด Enter เลย