Now Reading:

ผ้าไทยใครว่าเชย! KRAM-HUG สตรีทแวร์ผ้าคราม ชิคไม่แพ้แบรนด์ดัง

รายได้เดือนละแสนตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ!! ใครจะไปคิดว่าผ้าครามจะทำเงินให้กับแบรนด์ KRAM-HUG ได้มากขนาดนี้ แม้หลายคนจะฟังแล้วอิจฉาแต่บอกเลยว่ารายได้หลักแสนอาจยังไม่เท่าความภูมิใจของทั้งสองหนุ่มสาวชาวเชียงใหม่ นักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่ได้มีส่วนในการทำให้ผ้าไทยเป็นที่รู้จักในหมู่วัยรุ่นมากขึ้น

วันนี้ Shopspotter ขอพาทุกคนมารู้จัก “หนึ่ง-ปาณิสรา มณีรัตน์ ” และ “ป๊อป-นภัต ตันสุวรรณ” เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าสุดเท่ ที่กว่าจะมาถึงจุดนี้บอกเลยว่าเพราะความฮักล้วนๆ 

“เพราะวัยรุ่นมองว่าผ้าไทยเชย ไม่ทันสมัย เราจึงนำมาประยุกต์กับแนวสตรีทร่วมสมัยเพื่อให้คนทุกวัยสามารถใส่ได้”

เรื่องเก่าเล่าใหม่

ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีที่ทันสมัยไม่ได้ทำให้คนรุ่นใหม่ห่างไกลจากรากเหง้าเสมอไปซะเดียว เพราะหนึ่งและป๊อป เลือกที่จะที่ต่อยอดความรู้ความสามารถเรื่องการดีไซน์และการทำการตลาดแบบสมัยใหม่นอกห้องเรียน ด้วยการลงพื้นที่ไปยังชุมชนต่างๆ ไปแลกเลี่ยนความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบ้าน ทั้งในจังหวัดระยอง เชียงใหม่ สระบุรี ราชบุรีและกรุงเทพฯ พอได้ไปอยู่ในชุมชนได้เห็นผ้าแบบใหม่ทำให้มีความสนุกที่อยากจะทำต่อไป รู้สึกประทับใจในฝีมือคนไทยจึงเริ่มศึกษาและสานต่อสู่ธุรกิจเสื้อผ้า จนตอนนี้ทั้งคู่ก็กำลังจะจบการศึกษากันแล้ว

‘Retell an old story in a new way’
นำเรื่องราวในอดีตมาเล่าใหม่ในรูปแบบที่ทันสมัยมากขึ้น

 

จากผ้าครามธรรมดาสู่ธุรกิจเสื้อผ้าหลักแสน

“เราเริ่มทำตั้งแต่ตอนเรียนมหาวิทยาลัยปี 2 ครับ  พอดีได้มีโอกาสเข้าร่วมประกวดในงานงานหนึ่ง เราจึงลงพื้นที่ไปในชุมชนเพื่อหาความรู้ต่างๆ เริ่มแรกที่เข้าไปหาชุมชน พวกเขายังไม่เข้าใจว่าเรามาทำอะไร จะมาแย่งมาเอาอะไรจากพวกเขาหรือเปล่า แต่เราก็ไปทุกวัน ไปนั่งดู”

“จนวันหนึ่งได้มีโอกาสลงไปคิดงานกับทางชุมชน พอได้ปรับความเข้าใจให้ตรงกันทางชุมชนเขาก็มีความสุขมากขึ้น เพราะเราก็ได้นำความรู้ในส่วนของเราไปช่วยงานเขา เพราะทั้งเขาและเราก็อยากจะเผยแพร่และต่อยอดงานทอผ้าออกไปสู่วงกว้างเหมือนกัน”

“ชุมชนที่ประทับใจมากที่สุดน่าจะเป็นที่อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี เริ่มแรกเราได้ไปทำโลโก้ โบรชัวร์สินค้า แอปพลิเคชั่น และเว็บไซต์ ให้ครับ โดยได้มีการใช้กราฟิกขึ้นลายผ้าที่หายไปนานกว่า 200 ปี กลับมาทอด้ายใหม่และทำเป็นกระเป๋า จริงๆ แล้วก็ประทับใจทุกชุมชนที่ได้เข้าไปร่วมงานเพราะคุณลุงคุณป้าทุกคนเขาน่ารัก ดูแลเราเหมือนเป็นคนในครอบครัวเลย”

ทำไมต้องเป็น “ครามฮัก”

“จุดเริ่มต้นเราคือการทำผ้าครามที่เชียงใหม่ คำว่า ‘คราม’ สื่อถึงธรรมชาติ ส่วนคำว่า ‘ฮัก’ คือความรักในหัตถศิลป์ไทย เลยได้ออกมาเป็น ‘ครามฮัก’ ”

 3 ปี 11 คอลเลคชั่น

“ตอนนี้มีทั้งหมด 10 คอลเลคชั่น และ Ready to wear 11 คอลเลคชั่น ภายในระยะเวลาทั้งหมด 3 ปี คอลเลคชั่นที่นำมาโชว์ในครั้งนี้ชื่อว่า THAI PARADISE เป็นการพูดถึงธรรมชาติที่ยังคงงดงามอยู่ โดยเราได้นำขวดพลาสติกจากใต้ท้องทะเลมา Reuse ใหม่ แล้วนำไปทอเป็นผ้าที่ชุมชนจังหวัดระนอง ซึ่งผ้าที่ออกมาก็ไม่ได้แตกต่างจากผ้าทั่วไปเลย เนื้อผ้าใส่สบายและยังมีความพิเศษคือสามารถกันละอองน้ำได้ด้วย ในเรื่องของดีไซน์ก็มีการเรียบเรียง เล่าเรื่องใหม่ผ่านงานจิตรกรรมผสมผสานกับงานคราฟที่เราสองคนถนัด เช่น งานปัก งานร้อย งานเย็บ มีการสอดแทรกความเป็นไทยโดยนำบทร้อยกรองมาอยู่บนเสื้อผ้าด้วย”

 

คอลเลคชั่น Ready to Wear เป็นคอลเลคชั่นที่ขายดีที่สุด เพราะผลิตออกมาถึง 2 รอบ

แรงบันดาลใจ

หนึ่ง: “การที่เรามีความสุขกับสิ่งที่ทำ ทำให้เราสนุกและไม่อยากหยุดที่จะพัฒนา ตอนนี้ยังคิดที่อยากจะไปภาคอีสานกับภาคใต้ ยังอยากเรียนรู้งานต่อไปเรื่อยๆ อยากลองเปลี่ยนวัสดุผ้าไปเรื่อยๆครับ”

ป๊อป: “ความรักคือสิ่งสำคัญที่ทำให้เราอยู่ตรงนี้ เพราะเวลาเราทำงานเราไม่มีเจ้านาย เราเป็นนายตัวเอง ถ้าเรารักก็จะทำมันไปได้ตลอด”

ใครที่สนใจเสื้อผ้าดีไซน์เก๋และใส่สบายของแบรนด์ KRAMHUG สามารถติดตามได้ทางเฟซบุ๊ก KHProject อินสตาแกรม khproject.bangkok

“KRAMHUG” คือ 1 ใน 67 แบรนด์ไทยไฟแรง ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าสู่โครงการ Designers’ Room & Talent Thai 2019 ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนและยกระดับสินค้าแบรนด์ไทยให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับนานาชาติ ซึ่งนอกจากผู้เข้าร่วมจะได้รับโอกาสในการพัฒนาความสามารถและต่อยอดธุรกิจแล้ว ผู้เข้าร่วมยังได้รับสิทธิ์เข้าร่วมแสดงผลงานในงานแสดงสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกด้วย

อยากให้เพื่อนได้อ่าน แชร์เลย


Comments

Share This Articles
ใส่คีย์เวิร์ดแล้วกด Enter เลย