Now Reading:

‘กีฬา vs โรคซึมเศร้า’ รู้จักโรควายร้าย ที่เอาชนะได้ด้วยการออกแรง!

ในปัจจุบันที่ข้อมูลทางการแพทย์เข้าถึงได้ง่ายจากการตีพิมพ์ออนไลน์ และเราสามารถเข้าใจโรคต่าง ๆ ได้เพียงปลายนิ้วคลิก แต่ถึงอย่างไรโรคที่คนส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจผิดมากที่สุดก็คือกลุ่มโรคทางจิตเวช และหนึ่งในนั้นก็คือ “โรคซึมเศร้า”

หลังจากที่ซีรีส์ SOS Skate ซึม ซ่าส์ ได้ออนแอร์ออกมาแล้ว เราเชื่อว่าหลายคนอาจสังสัยว่า เอ๊ะ! สเก็ตบอร์ดมันเกี่ยวอะไรนะ แล้วกีฬาจะใช้รักษาโรคซึมเศร้าได้จริงหรอ?! วันนี้ ShopSpotter มีคำตอบมาให้ แล้วไม่ใช่คำตอบธรรมดาด้วยนะ เพราะมาจาก คุณหมอกันตพัฒน์ ราชไชยา นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานจิตเวช รพ. เจริญกรุงประชารักษ์ รับรองข้อมูลถูกต้อง แชร์ต่อได้แน่นอน!

“ผมเป็นโรคซึมเศร้าครับ ก่อนหน้านี้ประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา ก่อนที่จะได้พบคุณหมอ ผมไม่เคยรู้มาก่อนว่าความสุขในชีวิตคืออะไร ทั้ง ๆ ที่ชีวิตผมก็มีพร้อมทุกอย่าง แต่ผมก็ไม่เคยมีความสุขกับสิ่งที่มีและเป็นเลย หลายคนที่ไม่เข้าใจในตัวผมมักจะบอกว่า ผมอ่อนแอ ขี้แพ้ แล้วก็คิดไปเองว่าตัวเองซึมเศร้า จนกระทั่งผมได้มาพบกับจิตแพทย์ คุณหมอทำให้ผมได้รู้ว่า ผมไม่ได้เป็นไอ้ขี้แพ้อย่างที่ใคร ๆ ว่า แต่ผมเป็นโรคซึมเศร้า โรคที่เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ที่ใคร ๆ ก็อาจเป็นได้ ผมต้องขอขอบคุณคุณหมอที่ทนอยู่กับความทุกข์ที่ผมต้องเผชิญ ช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผม และได้แนะนำแนวทางทำให้ผมได้พบกับความสุขที่ผมไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน นั่นคือ มิตรภาพระหว่างเพื่อนและกีฬา ทุกวันนี้ผมหายดีแล้วครับ เพราะผมมีกีฬาและมิตรภาพจากเพื่อน ๆ ร่วมกับการดูแลของคุณหมออย่างต่อเนื่องครับ”

นี่เป็นบทความส่วนหนึ่งของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ผมในฐานะจิตแพทย์ได้ดูแล ซึ่งทำให้ผมเกิดแรงบันดาลใจในการเขียนบทความเรื่องนี้ เพื่อตีแผ่ความจริงของโรคซึมเศร้าให้ทุกคนได้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ภายนอกที่เหมือนกับเด็กวัยรุ่นชายธรรมดาทั่ว ๆ ไป เพียงแค่ดูท่าทางอมทุกข์ แต่ภายในกลับมีความรู้สึกและอาการมากมายที่เรามองไม่ให้หากไม่ได้ใส่ใจใกล้ชิด…

Official Trailer ‘Project S The Series | SOS skate ซึม ซ่าส์’

ทั้งอารมณ์ซึมเศร้าทั้งวัน ทุกวัน ต่อเนื่องยาวนานอย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป ไม่สนใจสิ่งรอบตัวเก็บตัวอยู่คนเดียว เบื่ออาหาร นอนไม่หลับหรือบางครั้งก็นอนมันได้ทั้งวัน เฉื่อยชา อ่อนเพลียไม่มีแรง รู้สึกว่าตนเองไม่มีค่า สมาธิลดลง และมีความคิดที่จะฆ่าตัวตายเป็นพัก ๆ

และนี่ก็คืออาการโดยคร่าวจากประสบการณ์ตรงของผู้ป่วย มาถึงจุดนี้ผมจะขออธิบายเชิงวิชาการก่อนถึงเจ้าวายร้ายที่เรียกว่า “โรคซึมเศร้า”

โรคซึมเศร้าคืออะไร

“โรค” แสดงถึงว่ามีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี ซึ่งต่างจากภาวะอารมณ์เศร้าตามปกติทั่วไปที่สัมพันธ์กับเหตุการณ์สะเทือนใจ ถ้าเหตุการณ์ต่าง ๆ รอบตัวหายไป หรือมีคนเข้าใจรับฟัง อารมณ์เศร้านี้ก็อาจหายไปได้ แต่ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้านอกจากมีอารมณ์ซึมเศร้าร่วมกับอาการต่าง ๆ แล้ว การทำงานหรือการประกอบกิจวัตรประจำวันก็แย่ลงด้วย ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมค่อนข้างมาก การเปลี่ยนแปลงหลัก ๆ จะเป็นในด้านอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด พฤติกรรม ร่วมกับอาการทางร่างกาย เป็นต้น

การเป็นโรคซึมเศร้าไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่เป็นนั้นเป็นคนอ่อนแอ คิดมาก หรือเป็นคนไม่สู้ปัญหา เอาแต่ท้อแท้ ซึมเซา แต่ที่เขาเป็นนั้นเป็นเพราะตัวโรค กล่าวได้ว่าถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม โรคก็จะทุเลาลง เขาก็จะกลับมาเป็นผู้ที่จิตใจแจ่มใส พร้อมจะทำกิจวัตรต่าง ๆ ได้อย่างคนปกติทั่วไป

Official Trailer ‘Project S The Series | SOS skate ซึม ซ่าส์’

สาเหตุของโรคซึมเศร้า

ปัจจัยสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคซึมเศร้า ได้แก่

  1. สารเคมีในสมอง เป็นสาเหตุหลักที่มีข้อพิสูจน์ทางการแพทย์มากที่สุด โดยพบว่าระบบสารเคมีในสมองของผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติอย่างชัดเจน สารที่สำคัญได้แก่ ซีโรโทนิน (Serotonin) โดปามีน (Dopamine) และนอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine) ลดต่ำลง รวมทั้งอาจมีความผิดปกติของเซลล์รับสื่อเคมีเหล่านี้  ซึ่งยาแก้เศร้าที่ใช้กันนั้นก็ออกฤทธิ์โดยการไปปรับสมดุลของระบบสารเคมีเหล่านี้
  2. พันธุกรรม พบว่ากรรมพันธุ์มีส่วนเกี่ยวข้องสูงในโรคซึมเศร้าโดยเฉพาะในกรณีของผู้ที่มีอาการเป็นซ้ำหลาย ๆ ครั้ง เพราะพบว่าคนที่มีญาติสายตรงเป็นโรคซึมเศร้าจะทำให้คนนั้นมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป 3-4 เท่า
  3. ลักษณะความคิดโดยอัตโนมัติ อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องสำหรับบางคน มักจะมีแนวคิดที่ทำให้ตนเองซึมเศร้า เช่น มองตนเองในแง่ลบ มองอดีตเห็นแต่ความบกพร่องของตนเอง หรือ มองโลกในแง่ร้าย เป็นต้น บุคคลเหล่านี้เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่กดดันมีแนวโน้มที่จะเกิดอาการซึมเศร้าได้ง่าย

Official Trailer ‘Project S The Series | SOS skate ซึม ซ่าส์’

การวินิจฉัยตามมาตรฐานสากล

มีอาการดังต่อไปนี้ 5 อาการหรือมากกว่า

  1. มีอารมณ์ซึมเศร้า (ในเด็กและวัยรุ่นอาจเป็นอารมณ์หงุดหงิดก็ได้)
  2. ความสนใจหรือความเพลินใจในกิจกรรมต่าง ๆ แทบทั้งหมดลดลงอย่างมาก
  3. น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นมาก (น้ำหนักเปลี่ยนแปลงมากกว่าร้อยละ 5 ต่อเดือน) หรือมีการเบื่ออาหารหรือเจริญอาหารมาก
  4. นอนไม่หลับ หรือหลับมากไป
  5. กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข หรือเชื่องช้าลง
  6. อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง
  7. รู้สึกตนเองไร้ค่า
  8. สมาธิลดลง ใจลอย หรือลังเลใจไปหมด
  9. คิดเรื่องการตาย คิดอยากตาย

* ต้องมีอาการในข้อ 1 หรือ 2 อย่างน้อย 1 ข้อ

* ต้องมีอาการเป็นอยู่นาน 2 สัปดาห์ขึ้นไป และต้องมีอาการเหล่านี้อยู่เกือบตลอดเวลา แทบจะทั้งวันทุกวันต่อเนื่อง

Official Trailer ‘Project S The Series | SOS skate ซึม ซ่าส์’

เพราะความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ที่ทำให้สารเคมีแห่งความสุขหายไป วายร้ายโรคซึมเศร้าจึงเข้ามาแทนที่ และนั่นก็นำมาสู่

แนวทางการรักษาที่ต้องวางแผนร่วมกันระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย

โดยสามารถแบ่งได้เป็น 3 วิธีครับ…

  1. การรักษาด้วยยา ณ ปัจจุบันเป็นการรักษาหลักเนื่องจากมีข้อพิสูจน์ทางการแพทย์ว่า โรคซึมเศร้าเกิดจากความบกพร่องของสารเคมีในสมองหลาย ๆ ตัว ยาจึงไปออกฤทธิ์เพื่อปรับสารเคมีในสมองให้เข้าสู่ภาวะสมดุล เพื่อลดภาวะซึมเศร้าทำให้อาการซึมเศร้าค่อย ๆ ดีขึ้น
  2. การทำจิตบำบัด การทำจิตบำบัดโดยจิตแพทย์ เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการรักษาในการรักษาโรคซึมเศร้า โดยอาจใช้การทำจิตบำบัดร่วมกับการใช้ยาเพื่อทำให้โรคซึมเศร้า ดีขึ้นได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
  3. กิจกรรมบำบัด การทำกิจกรรมในหลาย ๆ รูปแบบเป็นแนวทางเสริมที่ทำให้โรคซึมเศร้าดีขึ้นได้ เช่น การบำเพ็ญประโยชน์ อาชีวบำบัด รวมถึงการออกกำลังกายซึ่งมีข้อพิสูจน์ทางการแพทย์ว่าช่วยได้เป็นอย่างมาก
โรคซึมเศร้า

Official Trailer ‘Project S The Series | SOS skate ซึม ซ่าส์’

และในกรณีของเด็กชายด้านบนที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ซึ่งผมได้ให้การดูแล สิ่งที่เยียวยาจิตใจและทำให้อาการซึมเศร้าของเขาดีขึ้นได้เป็นอย่างดีก็คือการได้เล่นกีฬาและมิตรภาพดี ๆ จากเพื่อนที่ได้จากการเล่นกีฬา ทำให้เขารู้สึกมีความสุขขึ้นและรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่ามากขึ้นจากที่ไม่เคยรู้สึกแบบนี้มาก่อน… ซึ่งผมก็ได้นำข้อมูล 

การศึกษาทางการแพทย์เรื่องการออกกำลังกายกับโรคซึมเศร้า มาให้ทุกคนได้อ่านกันครับ

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าการออกกำลังกายมีการศึกษาวิจัยที่รองรับอย่างแพร่หลายว่ามีส่วนช่วยเกี่ยวกับตัวโรคซึมเศร้า โดยจะต้องเป็นการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ 30 – 40 นาทีต่อวันขึ้นไป อย่างน้อย 3 – 4 วันในหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องนั้นส่งผลต่อจิตใจดังนี้คือ

  • ลดความเครียด
  • หลุดออกมาจากภาวะความเครียดและอารมณ์ที่ซึมเศร้า
  • เสริมสร้างความมั่นใจในตนเอง
  • ทำให้คุณภาพการนอนดีขึ้น

ซึ่งจากผลดังกล่างนี้ทำให้ช่วยให้อาการซึมเศร้าดีขึ้นได้ในหลาย ๆ แง่ เช่น ความเบื่อท้อลดลง นอนหลับสบายมากขึ้น มีความมั่นใจมากขึ้นสมาธิดีขึ้น คิดลบน้อยลง โดยมีกลไกการอธิบายได้ดังต่อไปนี้…

1. ผลของการออกกำลังกายต่อโรคซึมเศร้าในเชิงสารเคมีในสมอง

พบว่าการออกกำลังกายจะทำให้สารเอ็นโดรฟิน (Endorphins) หลั่งออกมาหลังจากออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง โดยสารเอ็นโดรฟินนี้เป็นสารแห่งความสุข ที่จะทำให้รู้สึกมีความสุขขึ้น มีอารมณ์ที่ดีขึ้น ลดความเจ็บปวดได้คล้ายยาแก้ปวด ซึ่งเมื่อเราออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องนั้นสารเอ็นโดรฟินจะหลั่งออกมาทั่วร่ายกาย รวมถึงไขสันหลัง และสมอง

เอ็นโดรฟินที่หลั่งออกมาในสมองของผู้ที่ออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องนี้เองที่มีส่วนช่วยทำให้เกิดความสุขขึ้น และสารเอ็นโดรฟินที่หลังออกมาอย่างต่อเนื่องในช่วงออกกำลังนี้จะไปช่วยทดแทนสารเคมีในสมองที่พร่องไปของผู้ป่วยซึมเศร้า เช่น ซีโรโทนิน (Serotonin) โดปามีน ( Dopamine) และ นอร์เอพิเนฟฟริน (Norepinephrine) และสารเอ็นโดรฟินที่หลั่งอย่างต่อเนื่องจากการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอนี้อาจมีผลกระตุ้นทำให้เกิดสมดุลของสารเคมีในสมองที่พร่องไปของผู้ป่วยซึมเศร้า ค่อย ๆ คืนสภาพสู่ภาวะสมดุลได้ จึงเป็นคำอธิบายในเชิงวิทยาศาสตร์ว่าการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องนั้นช่วยเรื่องโรคซึมเศร้าได้อย่างไร

2. ผลของการออกกำลังกายต่อโรคซึมเศร้าในเชิงจิตวิทยา

การออกกำลังกายส่งผลในเชิงจิตวิทยาโดยพบว่าการออกกำลังการอย่างต่อเนื่องทำให้รู้สึกสดชื่นขึ้น คิดในแง่ลบลดลง เพิ่มความมั่นใจในตัวเอง ยิ่งถ้าออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง ยิ่งทำให้สุขภาพแข็งแรงขึ้น มีรูปร่างที่ดีขึ้น ย่อมส่งผลต่อความมั่นใจในตัวเองโดยตรง และทำให้จิตใจดีขึ้นมีความสุขขึ้น และนอกจากกนี้การออกกำลังกายที่เป็นลักษณะการเล่นกีฬาเป็นทีมนั้น ช่วยเพิ่มสัมพันธภาพ การเข้าสังคม ทำให้เพิ่มคุณค่าในตัวเองและส่งผลดีต่อความรู้สึกจากการได้รับการยอมรับ มีมิตรภาพที่ดีจากเพื่อนในกลุ่ม ทำให้ส่งผลด้านจิตใจผู้ที่มีโรคซึมเศร้าให้ดีขึ้นได้

Official Trailer ‘Project S The Series | SOS skate ซึม ซ่าส์’

บทสรุป

โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกวิธีโดยแพทย์หรือจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยมีสาเหตุหลักที่เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ไม่ได้เกิดจากการเสแสร้งหรืออ่อนแอแต่อย่างใด การดูแลรักษามีหลายแนวทาง ทั้งการรับประทานยาเพื่อปรับสมดุลสของสารเคมีในสมอง การทำจิตบำบัดโดยจิตแพทย์ รวมถึงการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ที่มีข้อพิสูจน์ทางการแพทย์ว่าช่วยทำให้โรคซึมเศร้าดีขึ้นได้อย่างชัดเจน

Official Trailer ‘Project S The Series | SOS skate ซึม ซ่าส์’

ท้ายนี้อยากจะฝากไว้ว่า โรคซึมเศร้า เกิดได้กับทุกคนไม่ว่าจะเป็นตัวคุณเองหรือคนใกล้ตัว แต่มันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เพียงแค่คุณเข้าใจมัน ยอมรับและมาปรึกษาจิตแพทย์ รวมทั้งอาจจะใช้ออกกำลังกายและการเล่นกีฬา เป็นตัวช่วยในการรักษาและป้องกันโรคซึมเศร้าได้ครับ เพื่อช่วยในการเยียวยาให้โรคซึมเศร้าดีขึ้นได้ไวขึ้น ฉะนั้น เรามาเล่นกีฬา ออกกำลังกาย เพื่อคลายทุกข์ เพิ่มความสุขในชีวิตกันเถอะครับ


อยากให้เพื่อนได้อ่าน แชร์เลย


Comments

Share This Articles
ใส่คีย์เวิร์ดแล้วกด Enter เลย